Austria, Republic of

สาธารณรัฐออสเตรีย




     ออสเตรียเป็นประเทศที่มีความสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกในสมัยจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) และคงความสำคัญสืบต่อมาในสมัยกลางด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ได้ตกเป็นของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก(Habsburg) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ประวัติศาสตร์ของออสเตรียก็เกี่ยวพันและแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ออสเตรียเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างแนบแน่นกับกิจกรรมของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) และตลอดระยะเวลาที่ประมุขของออสเตรียดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จะล่มสลายออสเตรียได้ถูกจัดตั้งเป็นจักรวรรดิขึ้นใน ค.ศ.๑๘๐๔ ต่อมาเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)ออสเตรียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐภายหลังที่จักรวรรดิพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางตลอดกาล(everlasting neutrality)
     ออสเตรียเป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าหรือเมื่อประมาณ๒๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว โดยอาศัยรอบ ๆ ลุ่มน้ำดานูบ (Danube Valley) อาณาบริเวณดังกล่าวมีความสำคัญและเป็นแหล่งเศรษฐกิจในยุคหินใหม่เมื่อมีการทำเหมืองเกลือเหมืองเกลือในเดือร์นแบร์ก (Dürnberg) ฮัลล์ชตัทท์ (Hallstatt) และฮัลล์ (Hall) ในปัจจุบันล้วนแต่เป็นเหมืองเกลือเก่าแก่ที่ดำเนินการมานานนับพันปีแล้ว อย่างไรก็ดีดินแดนออสเตรียก็มิได้พัฒนาไปอย่างกว้างไกลจนกระทั่งชนเผ่าเคลต์(Celt)เข้ารุกรานในราว ๔๕๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชและประสมประสานกับชาวพื้นเมืองมีการนำเทคนิคใหม่ในการทำเหมืองเกลือและการหลอมโลหะ (เหล็ก) เข้ามาเผยแพร่รวมทั้งภาษา ความเชื่อ วัฒนธรรม และการตั้งชุมชนเมือง ในไม่ช้าพวกเคลต์ก็ได้จัดตั้งราชอาณาจักรนอริคัม (Noricum) ในดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำดานูบและอยู่กันอย่างสันติเป็นเวลาหลายร้อยปี แม้ว่าในขณะนั้นชนเผ่าเยอรมัน (Germanic tribes)ทางตอนเหนือจะเริ่มเป็นภัยต่อความมั่นคงและปลอดภัยของราชอาณาจักร
     อย่างไรก็ดี ใน ๑๕ ปีก่อนคริสต์ศักราชดินแดนออสเตรียก็ถูกกองทัพโรมันเข้ายึดครองและกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ และมีความสำคัญในฐานะเป็นดินแดนหน้าด่าน มีการสร้างป้อมปราการและค่ายทหารที่มีทหารจำนวน ๖,๐๐๐ นาย รวมทั้งทหารม้าชาวโรมันจากอังกฤษจำนวน ๑,๐๐๐ นายประจำการในบริเวณซึ่งต่อมาเรียกว่า วินดอโบนา (Vindobona) หรือกรุงเวียนนาในปัจจุบัน ขณะที่อยู่ใต้ปกครองของโรมัน ดินแดนออสเตรียหรือคอริคัมกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญและก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการสร้างเครือข่ายและตัดเส้นทางผ่านเทือกเขาแอลป์เพื่อใช้ในการเดินทัพและการติดต่อค้าขายระหว่างตะวันตกกับตะวันออก รวมทั้งขนส่งทองคำ เหล้า และเกลือในดินแดนออสเตรียไปยังกรุงโรม มีการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมทางน้ำของแม่น้ำดานูบและแม่น้ำสายอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อไปยังดินแดนต่าง ๆด้วย ส่วนโรมก็จัดส่งน้ำมันมะกอกและเหล้าองุ่นให้รวมทั้งแนะนำวิีธการปลูกองุ่นเพื่อทำเหล้าองุ่นและการเลี้ยงผึ้งเพื่อเอาน้ำผึ้งขณะเดียวกัน บรรพบุรุษของชาวออสเตรียก็เริ่มรู้จักคริสต์ศาสนาเมื่อเซนต์โฟลเรียน(St. Florian) อดีตนายทหารโรมันซึ่งหลบภัยจากกรุงโรมที่มีการจับกุมผู้นับถือคริสต์ศาสนาตามคำสั่งของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน (Diocletian ค.ศ. ๒๘๔-๓๐๕)พร้อมด้วยผู้ติดตามจำนวน ๔๐ คนมายังนอริคัม เซนต์โฟลเรียนพยายามจะเผยแผ่ความเชื่อของเขาแต่ถูกข้าหลวงจับไปถ่วงน้ำ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในขณะนั้น แต่เรื่องราวของเซนต์โฟลเรียนก็จุดประกายความศรัทธาในคริสต์ศาสนาขึ้นในดินแดนออสเตรีย ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างประติมากรรมของเซนต์โฟลเรียนเป็นรูปของชายขณะยืนเทน้ำเพื่อดับไฟที่กำลังไหม้บ้านขึ้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ นับว่าเป็นประจักษ์พยานในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนออสเตรียที่ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวออสเตรีย
     หลัง ค.ศ. ๔๗๖ เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายและเกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจขึ้นในดินแดนต่าง ๆ ของยุโรป นอริคัมได้ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของชนเผ่าเยอรมันจากตอนเหนือ รวมทั้งผู้รุกรานที่ดุร้ายจากบอลติก พวกแวนดัล(Vandal) ฮั่น (Han) บาวาเรียน (Bavarian) แลงโกบาร์ด (Langobard) เอวาร์ (Avar)สลาฟ (Slav) และอื่น ๆ ที่ผลัดกันเข้าปล้นสะดมและบ้างก็ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรต่อมา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่๘พระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne ใน ค.ศ. ๘๐๐ ทรงได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดิ) แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ (Frankish Kingdom) หรือราชอาณาจักรคาโรลินเจียน (Carolingian Kingdom) สามารถรวมออสเตรียและดินแดนโดยรอบให้อยู่ในอำนาจปกครองของพระองค์และบังคับให้ประชาชนทั่วไปนับถือคริสต์ศาสนา ทั้งยังได้สร้างเมืองหน้าด่านต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกอนารยชนจากตะวันออก ที่สำคัญคือ ออสท์มาร์ค (Ostmark) หรือบริเวณอัปเปอร์และโลเวอร์ออสเตรีย (Upper and Lower Austria) ในปัจจุบัน ต่อมา เมื่อเกิดการแย่งชิงบัลลังก์และตำแหน่ง “จักรพรรดิ” ระหว่างพระราชนัดดาของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ แฟรงก์จึงถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนตามสนธิสัญญาแวร์เดิง(Treaty of Verdun ค.ศ. ๘๔๓) ได้แก่อาณาจักรกลาง (The Middle Kingdom)แฟรงก์ตะวันตก และแฟรงก์ตะวันออก โดยออสท์มาร์คเป็นส่วนหนึ่งของแฟรงก์ตะวันออกหรือต่อมาเรียกว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
     ใน ค.ศ. ๙๕๕ เมื่อออทโทที่ ๑ ดุ็กแห่งแซกโซนีและกษัตริย์เยอรมัน(Otto I, Duke of Saxony and German King ต่อมาใน ค.ศ. ๙๖๒ ได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ) ได้ชัยชนะในการทำสงครามปราบปรามพวกแมกยาร์หรือฮังการี ที่เลชเฟลด์ (Lechfeld) ใกล้เอาก์สบูร์ก(Augsburg) และทำให้พวกแมกยาร์ยุติการคืบหน้าเพื่อรุกรานยุโรปกลางและตะวันตก พระองค์ทรงสร้างเมืองหน้าด่านที่เข้มแข็งจากแม่น้ำดานูบไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเอนส์ (Enns) เพื่อเฝ้าระวังพวกแมกยาร์ นโยบายดังกล่าวนี้ทำให้ดินแดนออสเตรียมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และชื่ออันเป็นที่มาของออสเตรียในภาษาเยอรมันว่า “เอิสเทอร์ไรช์” (Österreich) หรือดินแดนตะวันออกก็เริ่มใช้ใน“กฎบัตร” ในปลายทศวรรษ ๙๙๐ ต่อมาคำว่า “Austria” ซึ่งเป็นตัวสะกดในภาษาละตินของเอิสเทอร์ไรช์ก็ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานในเอกสารของจักรพรรดิคอนราดที่ ๓ (Conrad III ค.ศ. ๑๐๙๓-๑๑๕๒) ใน ค.ศ. ๙๗๖ จักรพรรดิออทโทที่ ๑พระราชทานเมืองหน้าด่านตะวันออกนี้แก่มาร์เกรฟเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งตระกูลบาเบนแบร์ก (Babenberg) ปกครอง ซึ่งตระกูลนี้ได้ครอบครองจนถึง ค.ศ.๑๒๔๒ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เอิสเทอร์ไรช์ได้ขยายพรมแดนไปตามแม่น้ำดานูบจนถึงแม่น้ำไลทา (Leitha) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างฮังการี กับออสเตรียในปัจจุบัน และใน ค.ศ. ๑๑๔๐ ได้จัดตั้งกรุงเวียนนาขึ้นเป็นเมืองหลวง ส่วนทางด้านตะวันตก ตระกูลบาเบนแบร์กก็ได้ครอบครองอาณาบริเวณระหว่างแม่น้ำเอนส์กับแม่น้ำอินน์ (Inn) ใน ค.ศ. ๑๑๕๖ ในวันที่ ๑๗ กันยายนปี เดียวกัน จักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๑ บาร์บารอสซา (Frederick I Barbarossa ค.ศ. ๑๑๕๒-๑๑๙๐) ทรงสถาปนาออสเตรียขึ้นเป็นราชรัฐชั้นดัชชี (duchy) ซึ่งส่งผลให้ดุ็กแห่งออสเตรียได้สิทธิสืบทอดและครอบครองสติเรีย (Styria) ใน ค.ศ. ๑๑๙๒ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๒๒๙ ได้ซื้อดินแดนส่วนใหญ่ของคาร์นีโอลา (Carniola) จากบิชอปแห่งไฟรซิง (Freising)อีกด้วย
     ราชรัฐออสเตรียได้เจริญก้าวหน้าจากการพัฒนาและการขยายตัวทางการค้าตามลำน้ำดานูบ ขณะเดียวกันเมืองจำนวนไม่น้อยก็ได้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญในดินแดนเยอรมันอาทิซอลซ์บูร์ก (Salzburg) เกิทท์เวก (Göttweg) เมลค์(Melk) โคลสเตอร์นอยบูร์ก (Klosterneuburg) ไฮลิงเกนครอยซ์ (Heiligenkreuz)ทำให้ออสเตรียมีความสำคัญและความมั่งคั่งมากขึ้น นอกจากนี้ ระหว่างสงครามครู เสด (Crusades) ดุ็กเลโอโปลด์ที่ ๕ (Leopold V) ซึ่งทรงถูกพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lion-Hearted ค.ศ. ๑๑๘๙-๑๑๙๙) แห่งอังกฤษหยามเกียรติโดยปลดธงของตระกูลบาเบนแบร์กออกจากเมืองอาเครอ (Acre) ที่ยึดครองได้ดุ็กเลโอโปลด์ที่ ๕ จึงจับพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์เป็นตัวประกันซึ่งทำให้อังกฤษต้องจ่ายเงินจำนวนมากเป็นค่าไถ่พระองค์เงินดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงรอบกรุงเวียนนาที่เป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองในอนาคต
     ตระกู ลบาเบนแบร์กสิ้นสายลงใน ค.ศ. ๑๒๔๖ เมื่อดุ็กเฟรเดอริกที่ ๒(Frederick II) ประมุขคนสุดท้ายของตระกูลได้ถูกสังหารในสนามรบกับพวกแมกยาร์ในยุทธการที่ไลทา (Battle of Leitha) ในเวลาไม่ช้าสภาฐานันดรของออสเตรียได้เลือกออทโทคาร์ดุ็กแห่งสติเรียและคาร์ิรนเทีย (Ottokar, Duke of Styria andDuke of Carinthia ต่อมาเฉลิมพระอิสริยยศพระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ แห่งโบฮีเมีย)เป็นประมุขคนใหม่ของพวกเขา อย่างไรก็ดี การขยายอำนาจของพระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ เข้าปกครองออสเตรียในเวลาต่อมาได้สร้างความไม่พอใจให้แก่เคานต์รูดอล์ฟที่ ๔ แห่งฮับส์บูร์ก (Rudolf IV of Habsburg) ซึ่งปกครองดินแดนขนาดเล็กในบริเวณสวิตเซอร์แลนด์และอัลซาซ (Alsace) และต้องการเข้าครอบครองออสเตรียเพื่อยกฐานะของตนเองและตระกูลให้สูงส่งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๒๗๓ หลังจากการขาดภาวะผู้นำครั้งใหญ่หรือช่วงว่างระหว่างรัชกาลครั้งใหญ่ (Great Interregnumค.ศ. ๑๒๕๔-๑๒๗๓) ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นสุดลงและเคานต์รูดอล์ฟที่ ๔ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์เยอรมันและจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพระนามจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ ๑ (ค.ศ. ๑๒๗๓-๑๒๙๑) จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ ๑ ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้อำนาจและสิทธิเข้ายึดครองออสเตรียจากพระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ โดยบีบบังคับให้พระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ สละสิทธิในการครอบครองราชรัฐออสเตรีย สติเรีย และคาร์ิรนเทีย และถวายบรรณาการแก่พระองค์จากการที่พระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ ทรงครอบครองโบฮีเมียและโมเรเวีย(Moravia) ซึ่งตั้งอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อันนำไปสู่สงครามและการสวรรคตของพระเจ้าออทโทคาร์ที่ ๒ ในสนามรบเมื่อ ค.ศ. ๑๒๗๘ นับแต่นั้นเป็นต้นมาออสเตรียก็ตกอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ทายาทสามารถขยายอำนาจไปทั่วยุโรป และดำรงฐานะ “ดุ็ก” “อาร์ชดุ็ก” และ “จักรพรรดิ” แห่งออสเตรียได้ตามลำดับเป็นเวลา ๖๔๐ ปีจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อราชวงศ์ฮับส์บูร์กต้องสิ้นอำนาจลงและออสเตรียเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
     การก้าวขึ้นมีอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กทำให้ออสเตรียกลายเป็นรัฐที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสามารถขยายอำนาจเข้าปกครองดินแดนทางตะวันออกของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้มากยิ่งขึ้นและใน ค.ศ. ๑๓๖๓ ได้ครอบครองทิโรล (Tyrol) และโฟราร์ลแบร์ก (Vorarlberg)ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสามารถควบคุมช่องอาร์ลแบร์ก (Arlberg Pass) อันเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการเดินทางไปค้าขายระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอัปเปอร์ไรน์(Upper Rhine) รวมทั้งช่องเบรนเนอร์ (Brenner Pass) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดที่เชื่อมระหว่างดินแดนเยอรมันกับอิตาลี ในปี ต่อมา มณฑลคาร์นีโอลา (Carniola) ได้ถูกแยกออกจากออสเตรียและจัดตั้งเป็นราชรัฐชั้นดัชชี ใน ค.ศ. ๑๓๗๔ บางส่วนของอิสเตรีย (Istria) ตกเป็นของออสเตรียและใน ค.ศ. ๑๓๘๒ ตรีเอสเต (Trieste) ได้ขอรวมตัวเข้ากับออสเตรีย ทำให้ดินแดนของราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งมีการขยายพรมแดนมาโดยตลอดมีอาณาบริเวณครอบคลุมตั้งแต่แม่น้ำดานูบจนถึงทะเลเอเดรียติก(Adriatic) และมีอำนาจปกครองชนชาติต่าง ๆอาทิเยอรมัน สลาฟอิตาลี
     อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กหรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปอีกชื่อว่าราชวงศ์ออสเตรีย (House of Austria) มิได้ยึดหลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิของบุตรหัวปี (Law of Primogeniture) ในการสืบทอดมรดก ดังนั้นทรัพย์สินที่ดินของราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงถูกแบ่งให้แก่โอรสทุกพระองค์ ทำให้ดินแดนในครอบครองต้องตกเป็นของหลายเจ้าของ และมีผลให้สมาชิกของราชวงศ์แม้จะครอบครองดินแดนสำคัญ ๆ ในดินแดนเยอรมันจำนวนมากก็ไม่ได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ สนธิสัญญา
     นอยบูร์ก (Treaty of Neuburg) ได้แบ่งทรัพย์สมบัติและตำแหน่งเจ้าราชรัฐให้แก่โอรสของอัลเบิร์ต ผู้ชาญฉลาดดุ็กแห่งออสเตรีย สติเรีย และคารินเทีย (Albert theWise, Duke of Austria, Styria and Carinthia) ก่อให้เกิดการแยกสาแหรกและอำนาจของประมุขราชวงศ์ฮับส์บูร์กและดินแดนออสเตรียในปั จจุบันออกเป็น๒ สาย คือ “สายอัลเบิร์ต”(Albertine line) และ “สายเลโอโปลด์”(Leopoldineline) โดยอัลเบิร์ตทรงครองตำแหน่งดุ็กแห่งออสเตรียและปกครองดินแดนอัปเปอร์และโลเวอร์ออสเตรีย ส่วนเลโอโปลด์ได้ตำแหน่งและปกครองดินแดนอื่น ๆ ในฐานะดุ็กแห่งสติเรีย คารินเทีย คาร์นีโอลา และเคานต์แห่งทิโรล (Count of Tyrol)
     อย่างไรก็ดี แม้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจะมิได้รวมตัวกันเป็นเอกภาพดังกล่าว แต่แต่ละสายโดยเฉพาะสายอัลเบิร์ตก็สามารถขยายอำนาจและอิทธิพลได้เป็นลำดับโดยอาศัยการอภิเษกสมรสและการสืบทอดทรัพย์สินมรดกเป็นหลัก ดุ็กอัลเบิร์ต(Albert ค.ศ. ๑๔๐๔-๑๔๓๙) ผู้สืบสายชั้นหลานได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบท(Elizabeth) พระราชธิดาในพระเจ้าซิกิสมุนด์ (Sigismund) กษัตริย์แห่งฮังการี (ค.ศ. ๑๓๘๗-๑๔๓๗) กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (ค.ศ. ๑๔๑๐-๑๔๓๗) และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. ๑๔๑๐-๑๔๓๗) เมื่อพระเจ้าซิกิสมุนด์สวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๓๗ ดุ็กอัลเบิร์ต พระชามาดา (บุตรเขย) ก็ได้สืบราชสมบัติฮังการี และโบฮีเมียตามที่พระเจ้าซิกิสมุนด์ทรงทำข้อตกลงไว้กับขุนนางของทั้ง ๒ ดินแดนก่อนจะสวรรคต ต่อมาใน ค.ศ. ๑๔๓๘ด้วยพระเกียรติยศที่สูงส่งขึ้นทำให้ดุ็กอัลเบิร์ตทรงได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก่อนหน้านี้สมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กถูกกีดกันมาโดยตลอดและไม่มีสิทธิแม้แต่จะอยู่ในคณะอิเล็กเตอร์(Elector) ซึ่งจะมีอำนาจเลือกจักรพรรดินอกจากนี้ การขึ้นครองราชย์ในดินแดนต่าง ๆดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อราชวงศ์ฮับส์บูร์กและเป็นการเพิ่มอำนาจ บทบาท และอิทธิพลของออสเตรียที่มีต่อฮังการี และโบฮีเมียอีกด้วย นอกจากนี้ นับแต่ ค.ศ. ๑๔๓๘เป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๔ ศตวรรษติดต่อกัน (ยกเว้นระหว่าง ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๕)ประมุขของออสเตรียหรือราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้รับเลือกตั้งโดยคณะอิเล็กเตอร์ให้ดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนจักรวรรดิสลายตัวลงในค.ศ. ๑๘๐๖อีกด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๔๕๗พระเจ้าลาดิสลัสที่ ๕ (Ladislas V) กษัตริย์แห่งฮังการี และโบฮีเมียสมาชิกองค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายอัลเบิร์ตสวรรคตลงขณะพระชนมายุ ๑๗พรรษาโดยปราศจากรัชทายาท ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายเลโอโปลด์สามารถรวบอำนาจและราชสมบัติของราชวงศ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งสร้างความเป็นปึกแผ่นของออสเตรีย โดยมีจักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๓ (Fredeick IIIค.ศ. ๑๔๕๒-๑๔๙๓) ในสายเลโอโปลด์ซึ่งได้สืบทอดพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. ๑๔๕๒ เป็นประมุขสูงสุดของราชวงศ์ ขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๔๕๓ “ดัชชีออสเตรีย” ก็ได้เลื่อนสถานภาพอย่างเป็นทางการขึ้นเป็น“อาร์ชดัชชีออสเตรีย”ซึ่งทำให้ฐานะและเกียรติยศของประมุขออสเตรียได้รับการยกย่องให้สูงส่งขึ้น โดยดำรงพระยศเป็น “อาร์ชดุ็กแห่งออสเตรีย”นอกจากนี้ สมาชิกของราชวงศ์ (imperial house) ที่เป็นพระโอรสพระธิดา และพระนัดดา (หลานปู่)สายตรงทุกพระองค์ของอาร์ชดุ็กแห่งออสเตรีย ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิด้วยนั้นยังได้รับพระยศ “อาร์ชดุ็ก”หรือ “อาร์ชดัชเชส”ด้วยนับเป็นอภิสิทธิ์ และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการเฉลิมพระยศเจ้านายระดับสูงของราชวงศ์ออสเตรียหรือราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่แตกต่างจากธรรมเนียมของราชวงศ์ือ่น ๆในยุโรป
     นับแต่รัชสมัยของจักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๓ ออสเตรียได้ดำเนินการให้สมาชิกของราชวงศ์อภิเษกสมรสกับทายาทของรัฐหรือแคว้นต่าง ๆ ที่ร่ำรวยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้ทายาทชั้นปนัดดา (เหลน) คือ อาร์ชดุ็กชาลส์ (Charles)พระโอรสพระองค์ใหญ่ในอาร์ชดุ็กฟิ ลิป (Philip) และเจ้าหญิงควนนา (Juana)พระราชธิดาในพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand) แห่งอารากอน (Aragon) และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลา (Isabella) แห่งกาสตีล (Castile) หรือที่เรียกชื่อรวมกันในเวลาต่อมาว่า “ราชอาณาจักรสเปน ” ได้ครอบครองราชสมบัติสเปน ใน ค.ศ. ๑๕๑๖ รวมทั้งดินแดนบางส่วนในอิตาลี และ “โลกใหม่” (New World)ในทวีปอเมริกา ส่วนอาร์ชดุ็กเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand) พระอนุชาซึ่งอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแอนน์ (Anne) แห่งฮังการี และโบฮีเมียก็ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งฮังการี และโบฮีเมียใน ค.ศ. ๑๕๒๑ รวมทั้งปกครองแคว้นทรานซิลเวเนีย(Transylvania) ราชอาณาจักรโครเอเชีย (Kingdom of Croatia) สลาโวเนีย(Slavonia) และดัลเมเชีย (Dalmatia) ที่อยู่ใต้ปกครองของฮังการี ด้วย ในค.ศ. ๑๕๑๙ เมื่ออาร์ชดุ็กชาลส์หรืออีกพระอิสริยยศหนึ่งคือ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑แห่งสเปน ทรงได้รับเลือกตั้งให้ดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็มีอำนาจปกครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลปกคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรปแล้ว ได้แก่ออสเตรีย สเปน ที่ครอบครอง “โลกใหม่”เนเปิลส์(Naples) ซิซีลี (Sicily) ซาร์ดิเนีย (Sardinia) ในอิตาลี และประเทศแผ่นดินต่ำ(Low Countries) ซึ่งประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ในปัจจุบัน จำนวนที่ดินที่กว้างใหญ่ไพศาลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดปัญหาในการปกครองและเกินความสามารถของประมุของค์เดียวที่จะดู แลให้ทั่วถึงได้ ดังนั้นเพื่อดำรงรักษาราชสมบัติมิให้ตกเป็นของศัตรู รวมทั้งการทำหน้าที่ป้องกันภัยรุกรานจากพวกเติร์ก (Turk) ที่เข้ารุกรานยุโรปตะวันออกในขณะนั้นจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕กับอาร์ชดุ็กเฟอร์ดินานด์พระอนุชาจึงร่วมกันทำกติกาสัญญาแห่งวอร์ม (WormsPact ค.ศ. ๑๕๒๑) และกติกาสัญญาแห่งบรัสเซลส์ (Brussels Pact ค.ศ. ๑๕๒๒)โดยอาร์ชดุ็กเฟอร์ดินานด์ได้รับสิทธิปกครองดินแดนที่ประกอบด้วยอาร์ชดัชชีออสเตรีย สติเรีย คารินเทีย คาร์นีโอลา มณฑลทิโรล ฟอร์ลันด์ (Vorlande) และชตัทอัลเทอร์ (Stathalter) รวมทั้งเขตแดนด้านตะวันตกของออสเตรียและดินแดนตอนเหนือของอิตาลี ส่วนจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ทรงครองราชสมบัติสเปน และประเทศแผ่นดินต่ำ การแบ่งอำนาจปกครองดังกล่าวนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกราชวงศ์ฮับส์บูร์กออกเป็น ๒ มหาสาขาคือ สายสเปน และสายออสเตรีย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๕๒ เมื่อจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ทรงสละราชสมบัติและออกผนวชนั้นการแบ่งอำนาจระหว่างราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน กับสายออสเตรียก็สมบูรณ์และกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ออสเตรียในฐานะ “มหาอำนาจยุโรป”อีกประเทศหนึ่งที่สร้างดุลแห่งอำนาจในยุโรปเป็นเวลากว่า ๓๕๐ ปี ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรียก็ได้สืบทอดพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ปกครองออสเตรียทรงได้รับการถวายพระเกียรติยศติดต่อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๓๘ด้วย ขณะเดียวกันออสเตรียกับสเปน ก็ร่วมกันดำเนินนโยบายทางการทูตและการทหารอย่างแข็งขันเพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจและอิทธิพลของฝรั่งเศส
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อำนาจของประมุขออสเตรียในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้ถูกทอนลงจากการแบ่งค่ายของรัฐเยอรมันที่สืบเนื่องจากการปฏิรูปศาสนา (Reformation) และสงครามสามสิบปี (Thirty Yearsû War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) ระหว่างรัฐที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia ค.ศ. ๑๖๔๘) ที่ยุติสงคราม ทำให้ประมุขของรัฐเยอรมันแต่ละรัฐมีอำนาจอิสระในการดำเนินนโยบายทางด้านศาสนา การเมืองและการต่างประเทศอย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๖๒๗ ระหว่างที่สงครามสามสิบปีกำลังดำเนินอยู่นั้น ออสเตรียก็สามารถบีบบังคับให้โบฮีเมียยอมรับสิทธิการสืบสันตติวงศ์ทางสายโลหิตของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในราชบัลลังก์โบฮีเมีย ทำให้ประมุขออสเตรียมีฐานะเป็นหนึ่งในอิเล็กเตอร์ด้วย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นรัฐผู้นำในการต่อต้านการรุกรานอีกระลอกของกองทัพเติร์กในภูมิภาคยุโรปตะวันออกใน ค.ศ. ๑๖๘๓ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๖๕๘-๑๗๐๕) ทรงสามารถป้องกันกรุงเวียนนานครหลวงของออสเตรียให้รอดพ้นจากการยึดครองของพวกเติร์กจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คนที่มีคารา มุสตาฟา (Kara Mustapha) เป็นผู้นำไว้ได้ซึ่งนับเป็นจุดจบในความพยายามของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)ที่จะขยายอำนาจและรุกล้ำพรมแดนเข้าไปยังใจกลางของทวีปยุโรปด้วย ต่อมาในค.ศ. ๑๖๘๖ ประมุขออสเตรียยังสามารถขับไล่พวกเติร์กที่ยึดครองกรุงบูดา (Buda)นครหลวงของฮังการี เป็นเวลา ๑๕๐ ปีได้สำเร็จ ชัยชนะดังกล่าวจึงเป็นที่ชื่นชมของขุนนางฮังการี เป็นอันมาก ใน ค.ศ. ๑๖๘๗ เหล่าขุนนางได้ยกเลิกพระราชโองการสารตราทอง (Golden Bull) ของฮังการี ที่ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๒๒ ซึ่งกำหนดให้ขุนนางฮังการี มีอำนาจและสิทธิในการยับยั้งผู้หนึ่งผู้ใดในการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ โดยยินยอมถวายสิทธิการสืบสันตติวงศ์ในราชบัลลังก์ฮังการี แก่ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ความสำเร็จในการขยายพระราชอำนาจในดินแดนทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเสริมสร้างพระบารมีให้แก่ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรียให้แผ่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยค้ำชูสถานภาพของประมุขแห่งออสเตรียในฐานะ “จักรพรรดิ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ” ให้ดำรงต่อไปได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทผู้นำสูงสุดของจักรพรรดิในดินแดนเยอรมันได้สลายไปแล้วเมื่อเกิดสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียใน ค.ศ. ๑๖๔๘ ที่ให้อำนาจอธิปไตยแก่เจ้านครรัฐต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
     ใน ค.ศ. ๑๗๐๐ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน ได้สิ้นสายลง ก่อให้เกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๓)ระหว่างฝรั่งเศส กับออสเตรียขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๐๑ เพื่อแย่งชิงบัลลังก์กัน โดยทั้ง๒ ฝ่ายต่างเป็นพระญาติสนิทกับกษัตริย์สเปน พระองค์ก่อน โดยมีอังกฤษ สหมณฑล(United Provinces) หรือเนเธอร์แลนด์ และบรันเดนบูร์ก-ปรัสเซีย (Brandenburg-Prussia) รวมตัวเป็นพันธมิตรกับออสเตรียในการสกัดกั้นการแผ่อำนาจของฝรั่งเศส ทั้งจะเป็นการรักษาดุลแห่งอำนาจในยุโรปด้วย สงครามสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht) สนธิสัญญาไรช์ชตัดท์ (Treaty of Reichstadt) และสนธิสัญญาบาเดิน (Treaty of Baden) ที่กระทำขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๓-๑๗๑๔ออสเตรียยอมรับสิทธิของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ของฝรั่งเศส ในการปกครองสเปน ขณะเดียวกันประมุขออสเตรียก็ได้รับเนเธอร์แลนด์ ของสเปน (SpanishNetherlands) หรือเบลเยียม ในปัจจุบัน ภายหลังที่ออสเตรียได้ครอบครองแล้วมีชื่อเรียกว่า “เนเธอร์แลนด์ ของออสเตรีย” (Austrian Netherlands) และดินแดนในคาบสมุทรอิตาลี ของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน ได้แก่ มิลาน เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๒๐ ซาร์ดิเนียได้ถูกนำไปแลกกับซิซีลีที่อยู่ในปกครองของราชวงศ์ซาวอย (Savoy) รวมทั้งดัชชีมันตาอู (Duchy of Mantau) ที่ยึดได้ระหว่างสงครามทำให้ออสเตรียเข้าไปมีอำนาจและอิทธิพลในคาบสมุทรอิตาลี แทน
     แม้ว่าราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรียจะสามารถแผ่อำนาจได้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน คือ การขาดรัชทายาทชายในการสืบราชสมบัติตามกฎหมายซาลิก (Salic Law) ที่ยึดถือเป็นกฎมนเทียรบาลในการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นเพื่อป้องกันการสิ้นสายอำนาจปกครองจักรพรรดิชาลส์ที่ ๖ (Charles VI ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๗๔๐) ซึ่งปราศจากพระราชโอรสจึงได้ทำข้อตกลงในพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๑๓ (Pragmatic Sanction 1713) กับนานาราชรัฐและประเทศเพื่อค้ำประกันสิทธิของพระราชธิดาและเจ้านายสตรีชั้นสูงให้ได้รับสิทธิการสืบราชสมบัติในกรณีที่ไม่มีรัชทายาทชาย เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในค.ศ. ๑๗๔๐อาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa)พระราชธิดาขึ้นครองราชสมบัิตทั้งหมดของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ขณะเดียวกันพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๒ มหาราช(Frederick William II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งปรัสเซีย ก็ทรงเห็นเป็นโอกาสยกกองทัพเข้ายึดแคว้นไซลีเซีย (Silesia) ที่อุดมสมบูรณ์ของออสเตรีย ก่อให้เกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of theAustrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) ขึ้น ขณะที่สงครามดำเนินอยู่ในระยะแรกนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นจักรพรรดิ ก่อให้เกิดช่วงว่างระหว่างรัชกาลขึ้นและนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ ๓๐๐ ปีที่ประมุขออสเตรียต้องสูญเสียตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ดี ในปลาย ค.ศ. ๑๗๔๕ เมื่อออสเตรียเป็นฝ่ายปราชัยและต้องทำสนธิสัญญาเดรสเดิน (Treaty of Dresden) โดยยอมให้ปรัสเซีย มีอำนาจในแคว้นไซลีเซียพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราชในฐานะอิเล็กเตอร์ก็ทรงตอบแทนราชวงศ์ฮับส์บูร์ก โดยสนับสนุนให้ดุ็กฟรานซิส สตีเวน แห่งลอร์แรน(Duke Francis Steven of Lorraine)พระสวามีในอาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซา เป็น
     





     จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพระนามจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑(Francis I ค.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๖๕) ส่วนแกรนด์ดัชเชสมาเรีย เทเรซา ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กและออสเตรียตามพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๑๓ ก็ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศ “จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา”ตามพระอิสริยยศของพระสวามีส่วนทายาทก็ยังคงใช้พระนามราชวงศ์ฮับส์บูร์กต่อไป
     ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาในฐานะอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย และสมเด็จพระราชินีนาถแห่งฮังการี และโบฮีเมีย(ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๐) พร้อมทั้งจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ (Joseph II ๑๗๖๕-๑๗๙๐)พระราชโอรสที่สืบราชสมบัติออสเตรียในเวลาต่อมา ต่างได้รับยกย่องเป็นกษัตริย์ภูมิธรรม (Enlightened Despot) ของยุโรป ทั้ง ๒พระองค์ทรงพยายามสร้างความเจริญให้แก่ดินแดนในปกครอง จัดระเบียบสังคมใหม่ และดำเนินนโยบายรวมดินแดนในปกครองของออสเตรียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและขยายอำนาจของออสเตรียไปยังภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่สำคัญคือ ออสเตรียได้ร่วมแบ่งโปแลนด์ ครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๗๗๒ กับซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II theGreat ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖) แห่งรัสเซีย และพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราชแห่งปรัสเซีย โดยออสเตรียได้รับแคว้นกาลิเซีย (Galicia) และแคว้นลอโดมิเรีย(Lodomeria) และครั้งที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ได้รับดินแดนทางตอนเหนือของแคว้นกาลิเซีย นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๗๗๕ออสเตรียยังได้รับบูโควินซ์ (Bukovinz) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมอลเดเวีย (Moldavia) จากจักรวรรดิออตโตมันเป็นเครื่องตอบแทน ที่มิได้สนับสนุนรัสเซีย ในการทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ.๑๗๗๔ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการคานอำนาจกับรัสเซีย ที่พยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านอีกด้วย
     ในช่วงระยะดังกล่าว กรุงเวียนนายังเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของยุโรปอาคาร สถานที่ และพระราชวังต่าง ๆ สร้างขึ้นตามศิลปะโรโกโก(Rococo) และบาโรก (Baroque) ที่สวยงามและหรูหรา ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการดนตรีของยุโรป คีตกวีและนักดนตรีที่สำคัญและมีชื่อเสียงล้วนแต่มีชีวิตในยุคทองของดนตรีในช่วงสมัยนี้ เช่น โยเซฟ ไฮเดิน (Joseph Haydn ค.ศ. ๑๗๓๒-๑๘๐๙) วอล์ฟกังอาร์มาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Armadeus Mozart ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๙๑) ฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert ค.ศ. ๑๗๙๗-๑๘๒๘) ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน(Ludwig van Beethoven ค.ศ. ๑๗๗๐-๑๘๒๗) และครอบครัวสเตราส์ (Strauss)รวมทั้งฟรานซ์ ลิสต์ (Franz Liszt ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๘๖) คีตกวีและนักเปียโนชาวฮังการี ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ปัจจุบันนี้การดนตรีของออสเตรียก็ยังคงเป็นเอกในโลกตะวันตก
     หลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)ออสเตรียพยายามช่วยเหลือสมเด็จพระราชินีมารีอองตัวเนต (Marie Antoinette) ซึ่งทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กและเป็นพระปิ ตุจฉา (อา) ของจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๖) ประมุขออสเตรียในขณะนั้นอันนำไปสู่การประกาศสงครามของฝรั่งเศส ต่อออสเตรียในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ในระยะแรกของสงครามซึ่งต่อมาเรียกว่า สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (FrenchRevolutionary War ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๙๐๑) และสงครามนโปเลียน (NapoleonicWars) ที่ต่อเนื่องกันนั้น ออสเตรียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และสูญเสียดินแดนสำคัญ ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ของออสเตรีย แคว้นลอมบาร์ดีแคว้นทิโรล แคว้นตรีเอสเต แคว้นคาร์นีโอลา และแคว้นเวสต์กาลิเซีย (West Galicia) การคุกคามออสเตรียได้ทวีมากขึ้นเมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)ผู้นำสูงสุดของฝรั่งเศส ได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon Iค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ในกลาง ค.ศ. ๑๘๐๔ ดังนั้น จักรวรรดิฝรั่งเศส ที่ ๑ (FirstEmpire of France) ที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่ออำนาจของออสเตรียและการดำรงอยู่ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะฝรั่งเศส อาจขยายดินแดนมายังด้านตะวันออกและเข้ายึดครองดินแดนในปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ ซึ่งทรงเกรงว่าประมุขฝรั่งเศส จะเข้าครอบครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงรีบประกาศแยกออสเตรียออกจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคยรวมตัวกันมาเกือบพันปี และยกสถานภาพของแกรนด์ดัชชีออสเตรียและดินแดนในปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กขึ้นเป็นจักรวรรดิอีกทั้งยังทรงออกพระราชโองการประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis Iค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๐๖) แห่งจักรวรรดิออสเตรียเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ก่อนที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ต่อมาในวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๖ จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ ก็ทรงประกาศสละมงกุฎของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงรวมรัฐต่าง ๆ ในดินแดนเยอรมัน ๑๖ รัฐเข้าด้วยกันและจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine) และให้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของฝรั่งเศส โดยตรง การดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสืบทอดติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐๐ ปี ก็ิส้นสุดลงด้วย
     อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมในสงครามสหพันธมิตร (Coalition Wars) เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ได้นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ออสเตรีย ใน ค.ศ. ๑๘๐๙จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ หรือพระอิสริยยศใหม่ จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ แห่งจักรวรรดิออสเตรียจึงทรงพยายามปรับท่าทีและการดำเนินนโยบายทางการทูตใหม่กับฝรั่งเศส ทรงแต่งตั้งเคานต์เคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens von Metternich ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชาย) ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมทเทอร์นิชได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวต่อฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็รอโอกาสที่จะแก้แค้นต่อไป ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ เขาสามารถโน้มน้าวให้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ผูกสัมพันธไมตรีเป็นเครือญาติกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ โดยพระราชทานอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ (Marie Louise) พระราชธิดาให้อภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต่อมาทรงมีพระราชโอรสร่วมกัน ๑พระองค์
     หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงปราชัยในสงคราม ออสเตรียได้จัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕เมทเทอร์นิชซึ่งเป็นเจ้าภาพและผู้แทนของออสเตรียได้รับเกียรติให้เป็นประธานในที่ประชุม ที่ประชุมใหญ่ฯ มีมติให้ออสเตรียได้รับมิลาน และทัสกานี(Tuscany) คืน รวมทั้งวินีเชีย (Venetia) เพื่อชดเชยที่เสียเนเธอร์แลนด์ ของออสเตรียให้แก่เนเธอร์แลนด์ ตามหลักการปิ ดล้อมฝรั่งเศส ขณะเดียวกันอดีตจักรพรรดินีมารี หลุยส์ พระมเหสีในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ทรงได้รับสิทธิในการครอบครองดัชชีปาร์มา (Parma) และปีอาเซนซา (Piacenza) เพื่อพยุงพระเกียรติยศและพระราชฐานะตลอดพระชนมชีพ การเข้าไปมีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมในคาบสมุทรอิตาลี ดังกล่าวซึ่งรัฐอิตาลี อิสระอีกหลายแห่งก็ยอมรับในอำนาจผู้นำของออสเตรีย ทำให้ออสเตรียมีอำนาจควบคุมการเมืองในอิตาลี ส่วนในดินแดนเยอรมันนั้นก็มีการจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation) ขึ้นแทนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สลายตัวไปใน ค.ศ. ๑๘๐๖ โดยออสเตรียได้เป็นประธานของสหพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งเท่ากับว่าประมุขออสเตรียยังคงได้รับการถวายพระเกียรติให้เป็นประมุขสูงสุดของดินแดนเยอรมันต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ในทางปฏิบัติพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑) แห่งปรัสเซีย ประมุขของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีประวัติในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจผู้นำกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กในดินแดนเยอรมันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ก็ทรงยอมรับในอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กโดยดุษณีอีกทั้งยังทรงมีทัศนะว่ากษัตริย์ปรัสเซีย ควรมีบทบาททางด้านการทหารในฐานะจอมทัพ (Archgeneral)แห่งจักรวรรดิออสเตรียเท่านั้น นอกจากนี้ เมทเทอร์นิชยังมีบทบาทสำคัญในด้านการต่างประเทศของยุโรป เขาสามารถทำให้ออสเตรียเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศฝ่ายอนุรักษนิยมและใช้ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe) เป็นเครื่องมือในการปราบปรามพวกเสรีนิยมและพวกชาตินิยมในนานาประเทศ ก่อให้เกิดระบบเมทเทอร์นิช (Metternich System) ที่เป็นการปกครองในระบอบเก่า (Ancient Regime)และทำให้ออสเตรียเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของยุโรป ดังนั้น ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ออสเตรียจึงเป็นกลายเป็นมหาอำนาจผู้นำอย่างแท้จริงในยุโรป
     อย่างไรก็ดี แม้ว่าออสเตรียจะสามารถสถาปนาอำนาจสูงสุดได้ แต่ภายในดินแดนที่ปกครองก็ต้องเผชิญกับการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยของกลุ่มชนต่าง ๆได้แก่ พวกแมกยาร์ (Magyar) เช็ก (Czech) โปล (Pole) รูทีเนีย (Ruthenian)โครแอต (Croat) เซิร์บ (Serb) สโลวีน (Slovene) สโลวัก (Slovak) โรมาเนีย (Romanian)อิตาลี ยิว และอื่น ๆ รวมทั้งชาวเยอรมันที่อาศัยในสมาพันธรัฐเยอรมันที่ต้องการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany) การดำเนินนโยบายในเชิงอนุรักษนิยมและปฏิกิิรยาของออสเตรียได้สร้างแรงกดดันให้แก่ชนชาติต่าง ๆรวมทั้งปัญญาชนออสเตรียในการต่อต้านรัฐบาลออสเตรียเป็นอันมาก เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848) โดยเริ่มต้นขึ้นในฝรั่งเศส เพื่อโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louise Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘) และขยายตัวมายังกรุงเวียนนานั้น ขบวนการชาตินิยมในดินแดนใต้ปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงเห็นเป็นโอกาสก่อกบฏและเรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง เมทเทอร์นิชได้ลาออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดีส่วนจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ (Ferdinand I ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๘๔๘)ซึ่งทรงมีพระสัญญาวิปลาสตั้งแต่เยาว์วัย แต่ได้รับการสนับสนุนให้สืบสันตติวงศ์ตามหลักการแห่งสิทธิชอบธรรม (Principle of Legitimacy) ก็ต้องสละราชสมบัติในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ อาร์ชดุ็กฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)พระชันษา๑๘ ปีพระภาติยะ (หลานลุง) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขพระองค์ใหม่ของออสเตรียเฉลิมพระนามจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)
     แม้รัฐบาลจักรวรรดิออสเตรียจะสามารถปราบปรามพวกกบฏในดินแดนต่าง ๆ ได้หมดใน ค.ศ. ๑๘๔๙ แต่ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ออสเตรียก็ต้องประสบกับความตกต่ำทางการเมืองระหว่างประเทศ ในสงครามไครเมีย(Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๔-๑๘๕๖) แม้ว่าออสเตรียจะดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่ก็สูญเสียพันธมิตรกับจักรวรรดิรัสเซีย ที่เคยผูกพันกันมาอย่างเหนียวแน่นเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งที่รัสเซีย ก็เคยส่งกองทัพมาช่วยปราบปรามการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ ในฮังการี ที่มีลายอช คอชุท (Lajos Kossuth) เป็นหัวหน้า และทำให้ออสเตรียไม่สูญเสียอำนาจปกครองในฮังการี การดำเนินนโยบายเป็นกลางนี้จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของออสเตรียที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเมื่อเผชิญภาวะสงครามกับนานาประเทศ ดังปรากฏใน ค.ศ. ๑๘๕๙ เมื่อออสเตรียพ่ายแพ้อย่างยับเยินแก่กองทัพของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia) ที่มีฝรั่งเศส เป็นพันธมิตรในสงครามเพื่อปกป้องการแยกตัวของดินแดนในปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในคาบสมุทรอิตาลี จนในที่สุดออสเตรียต้องสูญเสียดินแดนต่าง ๆรวมทั้งลอมบาร์ดีให้แก่ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย อันเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวของราชวงศ์ฮับส์บูร์กและออสเตรียในการรักษาดินแดนในอิตาลี
     ขณะเดียวกันในต้นทศวรรษ ๑๘๖๐ จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟยังถูกราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นแห่งปรัสเซีย แข่งขันเพื่อเป็นผู้นำในดินแดนเยอรมันอีกด้วยในที่สุดก็ถูกออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismark)อัครเสนาบดีแห่งปรัสเซีย ยั่วยุให้ก่อสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeksû War) หรือสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย (Austro-Prussian War) ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ออสเตรียยอมแพ้และต้องยอมรับการแยกตัวอย่างถาวรออกจากกลุ่มรัฐเยอรมันที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กเคยมีบทบาทและมีฐานะเป็นผู้นำมานานหลายร้อยปี อีกทั้งต้องยอมยกแคว้นวินีเชียซึ่งเป็นดินแดนสุดท้ายในดินแดนอิตาลี ที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กปกครองโดยตรงแก่ราชอาณาจักรอิตาลี ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ด้วย ความล้มเหลวดังกล่าวจึงทำให้จักรพรรดิฟรานซิสโจเซฟต้องหันมาดำเนินนโยบายประนีประนอมกับฮังการี เพื่อป้องกันการแยกตัว ในค.ศ. ๑๘๖๗ออสเตรียจึงทำความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี หรือเอาส์ไกลช์(Ausgleich) และสร้างระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy) โดยยกฐานะของฮังการี เป็นราชอาณาจักรที่มีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ประมุขออสเตรียทรงดำรงพระอิสริยยศกษัตริย์แห่งฮังการี และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิออสเตรียที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศนั้น ๆ โดยต่างมีคณะรัฐบาลที่แยกอำนาจจากกันอย่างเด็ดขาดยกเว้นในการดำเนินนโยบายทางด้านการทหารการคลัง และการต่างประเทศ แม้การสร้างความประนีประนอมระหว่างออสเตรียกับฮังการี ดังกล่าวจะเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ เพราะทำให้ชาวฮังการี ยอมอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ก็เป็นตัวอย่างให้ชนชาติต่าง ๆพยายามเรียกร้องสิทธิเดียวกันนี้ อันเป็นการสั่นสะเทือนความอยู่รอดของจักรวรรดิออสเตรียในเวลาเดียวกันด้วย
     หลังความปราชัยของฝรั่งเศส ในสงครามฝรั่งเศส -ปรัสเซีย (Franco-PrussianWar) และการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) ใน ค.ศ. ๑๘๗๑จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟก็ทรงคิดที่จะดำเนินนโยบายขยายอำนาจและอิทธิพลของออสเตรียไปยังดินแดนทางตะวันออกซึ่งเคยเป็นนโยบายสำคัญของราชวงศ์มาตั้งแต่ต้น ทรงประสบความสำเร็จเมื่อออสเตรียและเยอรมนี ได้ทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879) แม้สนธิสัญญาดังกล่าวที่บิสมาร์คซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันตั้งใจจะให้เยอรมนี ปลอดภัยจากศึกสองด้านถ้าหากต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ต่อออสเตรียในการขยายอำนาจไปยังคาบสมุทรบอลข่านโดยไม่ต้องวิตกกับการต่อต้านของชาวสลาฟและการแสวงหาพันธมิตรถ้าเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย ที่พยายามจะแผ่อิทธิพลเข้าไปยังอาณาบริเวณนั้นด้วย ดังนั้นปัญหาตะวันออก (Eastern Question) จึงขยายตัวมากขึ้นและนำไปสู่ิวกฤตการณ์บอสเนีย (Bosnian Crisis) ค.ศ. ๑๙๐๘ โดยออสเตรียเข้ายึดครองบอสเนีย และได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ฮึกเหิมของออสเตรียในภูมิภาคตะวันออกดังกล่าวจึงทำให้พวกสลาฟชาตินิยม โดยเฉพาะพวกเซิร์บในบอสเนีย ต่อต้าน จนเกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารอาร์ชดุ็กฟรานซิสเฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand) พระภาติยะ (หลานลุง) พร้อมกับดัชเชสแห่งโฮเฮนแบร์ก (Duchess of Hohenberg) พระชายา เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๑๔ ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) มณฑลบอสเนีย นับเป็นเหตุการณ์ที่สลดใจและสะเทือนขวัญยิ่ง การสิ้นพระชนม์ขององค์รัชทายาทก็ทำให้รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการี อ้างเป็นสาเหตุเพื่อลงโทษเซอร์เบียที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับแผนการลอบปลงพระชนม์ด้วย เหตุการณ์ได้ลุกลามและกลายเป็นชนวนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ ๑
     เยอรมนี ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งมีชื่อเรียกว่าฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) ทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตร(Allied Powers) ซึ่งประกอบด้วยเซอร์เบียอังกฤษ รัสเซีย เบลเยียม และฝรั่งเศส แต่เมื่อสงครามยืดเยื้อและขยายตัวไปยังทวีปต่าง ๆ ก็มีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจทั้ง ๒ ฝ่ายมากขึ้นตามลำดับ ในช่วงแรกของสงครามออสเตรียมุ่งทำสงครามในแนวรบด้านตะวันออกเพื่อพิชิตรัสเซีย แต่ประสบความล้มเหลวเพราะรัสเซีย มีกำลังพลที่เข้มแข็งกว่า เยอรมนี ต้องส่งกำลังมาหนุนช่วยและแต่งตั้งนายพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออสเตรีย รัสเซีย จึงเริ่มเป็นฝ่ายปราชัย แต่เมื่ออิตาลี เข้าสู่สงครามในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ กองทัพออสเตรียซึ่งเผชิญศึกสองแนวรบก็เริ่มเป็นฝ่ายเสียเปรียบ สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟสวรรคตด้วยโรคชราใน ค.ศ. ๑๙๑๖ อันเป็นการสิ้นสุดรัชกาลที่ยาวนานที่สุด (๖๘ ปี) ในประวัติศาสตร์ออสเตรีย อาร์ชดุ็กชาลส์ (Charles) ได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์เฉลิมพระนามจักรพรรดิชาลส์ (Charles ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘) นอกจากนี้ ออสเตรียยังต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองภายในอีกด้วย เพราะชนชาติต่าง ๆ ในจักรวรรดิเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวและพยายามแยกตัวเป็นอิสระ จักรพรรดิชาลส์ทรงพยายามแก้ปัญหาการเมืองภายในด้วยการเจรจาลับกับฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตรเพื่อแยกตัวทำสนธิสัญญาสงบศึก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน กองทัพออสเตรียก็ถูกตีแตกยับเยินทุกแนวรบซึ่งสร้างความกดดันทางการเมืองและสังคมภายในจักรวรรดิอย่างมาก ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ จึงเริ่มประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากออสเตรีย ชนชาติสลาฟประกาศรวมตัวเข้ากับพวกเซอร์เบีย และชนชาติเช็ก ก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐอิสระขึ้นในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่ออิตาลี โหมบุกโจมตีแนวรบออสเตรียเพื่อชิงดินแดนที่เคยสูญเสียในยุทธการที่คาปอเรตโต(Battle of Caporetto) ค.ศ. ๑๙๑๗ ให้แก่ออสเตรียออสเตรียไม่อาจต้านการบุกของอิตาลี ได้ และต้องประกาศยอมแพ้โดยลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่๓พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘
     ความพ่ายแพ้ของออสเตรีย-ฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ระบบราชาธิปไตยคู่ิส้นสุดลง จักรพรรดิชาลส์ทรงสละพระราชอำนาจในออสเตรียเมื่อวันที่ ๑๑พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในวันเดียวกันออสเตรีย-ฮังการี ก็ลงนามทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันรุ่งขึ้นออสเตรียประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐโดยเรียกชื่อว่า สาธารณรัฐออสเตรียเยอรมัน (Republic of German Austria) และมีคาร์ล เรนเนอร์ (KarlRenner) นักสังคมนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีส่วนจักรพรรดิชาลส์ก็ทรงสละบทบาทประมุขของราชอาณาจักรฮังการี ออสเตรียเรียกร้องที่จะเข้ารวมกับเยอรมนี ซึ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองและจัดตั้งเป็นเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) และในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ สภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศก็มีมติให้ออสเตรียรวมเข้ากับเยอรมนี แต่ฝรั่งเศส และอิตาลี คัดค้าน ทั้งสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty ofSt. Germain ค.ศ. ๑๙๑๙) ยังห้ามการรวมเข้ากับเยอรมนี ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจและกำหนดให้เปลี่ยนระบอบการปกครองและชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) หรือที่เรียกกันว่า สาธารณรัฐออสเตรียที่ ๑(First Austrian Republic) การลงมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นโมฆะ การถูกห้ามไม่ให้รวมเข้ากับเยอรมนี จึงทำให้ทั้งชาวออสเตรียและเยอรมันจำนวนมากเห็นว่าพวกตนถูกฝ่ายสัมพันธมิตรหลอกลวง เพราะหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้“สิทธิการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง” (right of self-determination)แก่พลเมืองชาติต่าง ๆ ในวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐสภาแห่งสาธารณรัฐออสเตรียที่จัดตั้งขึ้นก็ผ่านกฎหมายฮับส์บูร์ก (Habsburg Law) ขับสมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กทั้งหมดออกจากออสเตรีย ยกเว้นแต่ผู้ที่ยินยอมลาออกจากฐานันดรศักดิ์และดำรงสถานภาพพลเมืองหรือสามัญชน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ออสเตรียเป็นสาธารณรัฐในรูปสหพันธรัฐตามแบบสวิตเซอร์แลนด์
     แม้ออสเตรียจะเป็นประเทศที่แพ้สงคราม แต่ประเทศสัมพันธมิตรก็ผ่อนปรนการลงโทษออสเตรียมากกว่าเยอรมนี หรือฮังการี ออสเตรียไม่ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเพราะคณะกรรมาธิการฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่าออสเตรียไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายให้ได้ ออสเตรียยังเป็นประเทศแพ้สงครามเพียงประเทศเดียวที่ได้ดินแดนเพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากการปรับเส้นเขตแดนใหม่โดยได้พื้นที่ขนาดเล็กทางตะวันออกที่เป็นของฮังการี แต่แคว้นโบฮีเมียและโมเรเวียซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายเยอรมันและเคยรวมอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก็ถูกผนวกรวมกับประเทศเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีชื่อเรียกว่า ซู เดเทนลันด์(Sudetenland) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการลงประชามติที่เขตโชโพรน (Sopron)ซึ่งประชาชนขอเข้ารวมกับฮังการี แต่ในการลงประชามติที่คารินเทีย เมื่อวันที่๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ประชาชนขอเข้ารวมกับออสเตรียแทนการถูกผนวกรวมกับราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croatsand Slovenes) ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย(Kingdom of Yugoslavia) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ดินแดนฮังการี ทางตะวันตกที่เรียกว่า บูร์เกนลันด์ (Burgenland) ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่พูดภาษาเยอรมันก็ลงประชามติเข้ารวมกับออสเตรียด้วย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐ออสเตรียปกครองด้วยรัฐบาลผสมซึ่งประกอบด้วยพรรคสังคมประชาธิปไตยออสเตรีย (Social Democratic Party of Austria) กับพรรคคริสเตียนสังคมนิยม (Christian Socialist Party) แต่หลัง ค.ศ. ๑๙๒๐เป็นต้นมา พรรคคริสเตียนสังคมนิยมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การศาสนจักรได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลและอิกนัซ ซีเพิล (Ignaz Scipel) บาทหลวงคาทอลิกได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๒ วาระ (ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๔ และค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๒๙) ในช่วงเป็นผู้นำประเทศซีเพิลดำเนินนโยบายสร้างพันธมิตรระหว่างนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งกับองค์การศาสนจักรและพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มต่าง ๆ แต่ก็ประสบกับความสำเร็จไม่มากนักเพราะปัญหาแตกแยกทางการเมืองภายในและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปลายทศวรรษ๑๙๒๐ นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายที่เรียกชื่อว่า ไฮม์เวร์ (Heimwehr) และชุทซ์บุนด์ (Schutzbund) ตามลำดับกองกำลังกึ่งทหารของทั้ง ๒ ฝ่ายมักปะทะกันเสมอซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมการปะทะที่รุนแรงเกิดขึ้นในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๗ และขยายตัวจนเกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง เองเงิลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)นายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๔ จึงเห็นเป็นโอกาสใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามและเข้าควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ดอลล์ฟุสส์ประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภาแห่งชาติทั้งยังใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ
     ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ คณะรัฐบาลของดอลล์ฟุสส์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยกเลิกเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์และยุบพรรคการเมืองต่าง ๆโดยเหลือพรรคแนวร่วมปิตุภูมิ (Fatherland Front) เพียงพรรคการเมืองเดียวในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นพรรคที่ดอลล์ฟุสส์จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ทั้งรัฐยังเข้าผูกขาดและควบคุมการดำเนินงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ส่วนในด้านการต่างประเทศ ดอลล์ฟุสส์ยังมุ่งสร้างไมตรีและกระชับความสัมพันธ์กับเบนีโตมุสโสลีนี(Benito Mussolini) ผู้นำพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลี อย่างใกล้ชิดและลดบทบาทในด้านความสัมพันธ์กับเยอรมนี ลง นโยบายดังกล่าวทำให้ฝ่ายการเมืองปีกขวาที่ต้องการให้รวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี และสนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (AdolfHitler) ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (NationalSocialist German Workersû Party; Nazi) ไม่พอใจและพยายามเคลื่อนไหวโค่นอำนาจดอลล์ฟุสส์ แม้การโค่นอำนาจเขาจะล้มเหลวแต่ดอลล์ฟุสส์ก็ไม่อาจรอดพ้นจากเงื้อมมือของฝ่ายนาซีออสเตรียได้ เพราะเขาถูกสังหารด้วยอาวุธปืนในทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ฮิตเลอร์ดำเนินการการกวาดล้างทางการเมืองที่นองเลือดซึ่งเรียกว่าคืนแห่งมีดยาว(Night of the Long Knives) ในเยอรมนี คูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ (Kurt vonSchuschnigg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ค.ศ. ๑๙๓๒) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากเขา
     ชุชนิกก์แก้ปัญหาทางการเมืองภายในด้วยการยุบไฮม์เวร์กองกำลังกึ่งทหารที่สนับสนุนการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี และหันไปกระชับความสัมพันธ์กับมุสโสลีนีมากขึ้น โดยหวังว่าอิตาลี จะช่วยปกป้องเอกราชของออสเตรีย แต่เมื่อฮิตเลอร์กับมุสโสลินีทำความตกลงกันได้เกี่ยวกับกิจการของยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งทำให้ออสเตรียต้องเผชิญกับการคุกคามของเยอรมนี ที่จะรวมออสเตรียเข้ากับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich) ซึ่งฮิตเลอร์สถาปนาขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์จึงบีบบังคับให้ชุชนิกก์มาพบเขาที่เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) ในเยอรมนี เพื่อให้พรรคนาซีออสเตรียได้มีส่วนร่วมในการปกครองและการจะรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ชุชนิกก์ซึ่งหวาดเกรงอำนาจของเยอรมนี และเห็นว่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกมักยอมผ่อนปรนต่อข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของเยอรมนี ด้วยการดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy) จึงหาทางหลีกเลี่ยงการจะถูกผนวกเข้ากับเยอรมนี ด้วยการกำหนดให้มีการลงประชามติในวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘แต่เขาถูกฮิตเลอร์บังคับให้ลาออกในวันที่ ๑๑ มีนาคมและในวันรุ่งขึ้นก็ส่งกองทหารนาซีเข้ายึดครองออสเตรีย อาทูร์ ไซซิงควาร์ท (Arthur Seyssinquart) ซึ่งนิยมฮิตเลอร์และลัทธินาซีได้เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน ชาวออสเตรียจำนวนหนึ่งต่อต้านด้วยการอพยพออกนอกประเทศซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นปัญญาชนที่มีชื่อเสียงเช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แต่ชาวออสเตรียจำนวนมากก็ชื่นชมยินดีในการยาตราทัพของทหารนาซีเข้าสู่กรุงเวียนนาพร้อมกับฮิตเลอร์ ต่อมา ในวันที่๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ไซซิงควาร์ทจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมัน (Anschluss) ชาวออสเตรียร้อยละ ๙๙.๗๕ เห็นชอบกับการรวมเข้ากับเยอรมนี ออสเตรียจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕นานาประเทศในยุโรปต่างเพิกเฉยต่อการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมัน และมีเม็กซิโกเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่คัดค้านเรื่องการผนวกออสเตรียและเรียกร้องให้องค์การสันนิบาตชาติ(League of Nations)พิจารณาปัญหาดังกล่าวด้วยข้ออ้างว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและเป็นการคุกคามสันติภาพของยุโรป
     ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขบวนการต่อต้านนาซีในออสเตรียก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเยอรมนี ตอบโต้ด้วยการกวาดต้อนพลเมืองออสเตรียที่ต้องสงสัยกว่า ๗๕,๐๐๐ คนไปค่ายกักกัน (Concentration Camp) พลเมืองเชื้อสายยิวประมาณ ๒ ใน ๓ ถูกกวาดล้างและสังหาร ในช่วงที่เยอรมนี ยึดครองออสเตรียฮิตเลอร์ให้ปรับปรุงและพัฒนาเมืองลินซ์ (Linz) บ้านเกิดให้ทันสมัยและสร้างค่ายกักกันบริเวณนอกหมู่บ้านเมาเทาเซิน (Mauthausen) ให้เป็นศูนย์ของค่ายกักกันในออสเตรียในการจะคัดเลือกแบ่งประเภทนักโทษและส่งตัวนักโทษไปยังค่ายกักกันอื่น ๆ
     ต่อมา ในการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference) ค.ศ. ๑๙๔๓ ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยการร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามและพิจารณาปัญหาเยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตซึ่งร่วมมือกันทำสงครามต่อต้านเยอรมนี ประกาศว่าทั้ง ๓ ประเทศมหาอำนาจไม่เคยยอมรับว่าออสเตรียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์และให้การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เป็นโมฆะ คำประกาศดังกล่าวมีส่วนทำให้ออสเตรียในช่วงหลังสงครามได้รับการผ่อนปรนจากฝ่ายพันธมิตร ต่อมา ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๕กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้เข้าปลดปล่อยออสเตรียทางตะวันตกและทางตอนใต้ส่วนกองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียตก็เข้าปลดปล่อยทางด้านตะวันออกและเข้ายึดกรุงเวียนนาไว้ได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ออสเตรียและกรุงเวียนนาถูกแบ่งออกเป็น ๔ ส่วนเช่นเดียวกับเยอรมนี และกรุงเบอร์ลินและตกเป็นเขตยึดครองของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๕คณะกรรมาธิการฝ่ายพันธมิตร (Allied Commission) ที่บริหารปกครองเขตยึดครองยังกำหนดข้อตกลงว่าออสเตรียต้องไม่ผนวกเข้ากับเยอรมนี และห้ามราชวงศ์ฮับส์บูร์กกลับมาปกครอง ซึ่งต่อมาได้นำ กฎหมายฮับส์บูร์ก ค.ศ. ๑๙๑๙ มาบรรจุไว้ในคำประกาศสนธิสัญญาแห่งรัฐออสเตรีย (Austria State Treaty)ด้วย ทั้งรัฐสภาออสเตรียที่จัดตั้งขึ้นต้องตรากฎหมายรัฐธรรมนูญค้ำประกันความเป็นกลางของประเทศในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ มีการประกาศตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศในระบอบสาธารณรัฐ โดยมีระบบสองสภา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งมีวาระ ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง ๒ วาระ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีอำนาจบริหารสูงสุด คาร์ล เรนเนอร์ รัฐบุรุษอาวุโสซึ่งมีแนวคิดสังคมนิยมได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ออสเตรียได้เข้าร่วมในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)ของสหรัฐอเมริกาในการบูรณะฟื้นฟูยุโรป ซึ่งทำให้ออสเตรียสามารถฟื้นฟู เศรษฐกิจของตนให้เข้มแข็งขึ้นได้ ใน ค.ศ. ๑๙๕๑อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมก็เติบโตมากกว่าในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และยังเติบโตขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง
     สาธารณรัฐออสเตรียที่ ๒ (Second Austria Republic) มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงมากกว่าสาธารณรัฐออสเตรียที่ ๑ พรรคประชาชนออสเตรีย(Austrian Peopleûs Party) และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party)เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงหลังสงคราม ทั้ง ๒ พรรคต่างร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๖ และพยายามผลักดันให้ออสเตรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญคือพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรีย (Freedom Party of Austria) ในสนธิสัญญาแห่งรัฐออสเตรียที่ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรที่ยึดครองออสเตรียร่วมกันทำเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคมค.ศ. ๑๙๕๕ ณ กรุงเวียนนา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม กำหนดให้ถอนกำลังทหารที่ยึดครองออสเตรียให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๕ เดือน และให้ฟื้นฟูเอกราชของออสเตรียภายในอาณาเขตที่ได้กำหนดไว้ในช่วงก่อนสงครามทั้งออสเตรียต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่จะรักษาความเป็นกลางตลอดกาลไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับชาติใด ๆ หรือให้ดินแดนส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศเป็นที่ตั้งฐานทัพของต่างชาติ ในเดือนกันยายนออสเตรียก็จัดตั้งกองทัพแห่งชาติขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตย ต่อมา ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ออสเตรียก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) หลังค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นต้นมาออสเตรียซึ่งมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้เน้นพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และส่งเสริมให้กรุงเวียนนาเป็นศูนย์กลางการประชุมระหว่างประเทศเช่นเดียวกับนครเจนีวา (Geneva) ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ อาคารที่ทำการขององค์การสหประชาชาติก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ ทำให้กรุงเวียนนาเป็น “เมืองสำนักงานใหญ่”(Headquarters City)แห่งหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ พรรคประชาชนออสเตรียชนะพรรคสังคมประชาธิปไตยในการเลือกตั้งทั่วไปและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาร์ชดุ็กออทโท(Otto) พระราชโอรสองค์โตในจักรพรรดิชาลส์หรือในชื่อสามัญว่า “ออทโท ฟอนฮับส์บูร์ก” (Otto von Habsburg) ได้รับอนุญาตให้ประทับตราหนังสือเดินทางเข้าออสเตรียได้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๖ การกีดกันสมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กไม่ให้กลับเข้ามาอาศัยในประเทศออสเตรียที่ดำเนินมาเกือบ ๕๐ ปีจึงสิ้นสุดลง ต่อมาพรรคประชาชนออสเตรียได้สูญเสียที่นั่งให้แก่พรรคเสรีภาพแห่งออสเตรียซึ่งมีบรูโน เครีสกี(Bruno Kerisky) เป็นผู้นำ ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๗๑, ๑๙๗๕และ ๑๙๗๙ พรรคของเครีสกีกุมเสียงข้างมากได้และเขาเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล เขาดำเนินนโยบายการปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ และยังคงยึดระบบการบริหารที่เรียกว่า โพรพอร์ซ (Proporz) เป็นแนวทางปกครองโดยแบ่งสันตำแหน่งการเมืองที่สำคัญในจำนวนที่เท่าเทียมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจแก่กลุ่มผู้แทนของกรรมกร นักธุรกิจ ชาวนา และอื่น ๆ มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ ก่อนนำเข้าพิจารณาในสภา ทั้งนี้เพื่อให้การผ่านร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๘๓ พรรคเสรีภาพแห่งออสเตรียซึ่งสูญเสียความนิยมจากความล้มเหลวด้านนโยบายเศรษฐกิจก็ต้องยอมร่วมมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ แต่ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ พรรคประชาชนออสเตรียกลับมามีบทบาทในการปกครองประเทศอีกครั้ง โดยร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๙ นโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและพัฒนาเศรษฐกิจตลาดเสรีซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อยและทำให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ คูร์ท วัลด์ไฮม์ (Kurt Waldheim) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๙๖๘-๑๙๗๐) และเลขาธิการสหประชาชาติ(ค.ศ. ๑๙๗๒-๑๙๘๑) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ เขาถูกวิพากษ์โจมตีด้วยข้อกล่าวหาว่าเคยร่วมมือกับนาซีและต่อต้านชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้วัลด์ไฮม์จะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องดังกล่าวกลับสร้างความด่างพร้อยให้แก่ทั้งวัลด์ไฮม์และออสเตรียนอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างออสเตรียกับเยอรมนี ในการกวาดล้างชาวยิวระหว่างสงครามโลกซึ่งรัฐบาลออสเตรียทุกชุดพยายามปฏิเสธก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกขุดคุ้ย ในที่สุดใน ค.ศ. ๑๙๙๑ รัฐบาลออสเตรียยอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้เป็นหุ้นส่วนในแผนสงครามของฮิตเลอร์และร่วมมือในมาตรการสุดท้าย (Final Solution) ในการกำจัดชาวยิวทั่วยุโรป ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ รัฐบาลออสเตรียยอมชดเชยเงินกว่า ๑๓ ล้านปอนด์เป็นค่าศิลปะวัตถุที่รัฐบาลได้ยึดเป็นสมบัติของรัฐในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้แก่พลเมืองออสเตรียเชื้อสายยิวและครอบครัวที่รอดชีวิตจากการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) และต่อมาในค.ศ. ๒๐๐๑ ก็เพิ่มจำนวนเงินชดเชยอีกกว่า ๔๐๐ ล้านปอนด์ นอกจากนี้ใน ค.ศ.๑๙๙๘ รัฐบาลยังกำหนดให้มีวันหยุดราชการเพื่อเป็นการรำลึกถึงพลเมืองเชื้อสายยิวที่สูญเสียชีวิตในช่วงการทำลายล้างเผ่าพันธุ์
     แม้ออสเตรียจะมีสถานภาพเป็นกลางตลอดกาลตามสนธิสัญญารัฐออสเตรียค.ศ. ๑๙๕๕ แต่ออสเตรียก็ร่วมมือและเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆของยุโรป เช่น องค์การเพื่อความมั่นคงและการร่วมมือในยุโรป (Organizationfor Security Cooperation in Europe - OSCE)องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace) และอื่น ๆ ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคมค.ศ. ๑๙๙๕ ออสเตรียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งทำให้ประเทศได้ประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้ารวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๙๕ ออสเตรียก็ได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปด้วยการเข้าร่วมในสหภาพยุโรปยังทำให้ออสเตรียต้องยกเลิกเงินชิลลิง (schilling)ซึ่งเป็นเงินสกุลเดิมของประเทศและเริ่มหันมาใช้เงินยูโร (Euro) ของสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๕
     ในต้น ค.ศ. ๒๐๐๐ วอล์ฟกัง ชึสเซิล (Wolfgang Schüssel) นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรียซึ่งมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติและคัดค้านไม่ให้สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป รัฐบาลของชึสเซิลจึงถูกวิพากษ์โจมตีทั้งในและนอกประเทศ และสหภาพยุโรปก็ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตต่อรัฐบาลออสเตรียเนื่องจากวิตกว่ารัฐบาลออสเตรียอาจดำเนินนโยบายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ก็ลดการติดต่อและความสัมพันธ์กับออสเตรียลงการต่อต้านทั้งในและนอกประเทศมีผลให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีและทอนอำนาจของเยิร์ก ไฮเดอร์ (Jorg Haider) ผู้นำพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรียลง และทำให้ในเวลาต่อมาไฮเดอร์ต้องลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรีย ปัญหาการเมืองภายในจึงยุติลงและสหภาพยุโรปประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรออสเตรียในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๐ ทั้งสหรัฐอเมริกาก็ปรับความสัมพันธ์กับออสเตรียใหม่อีกครั้ง การยกเลิกการคว่ำบาตรดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดการปรับแก้ไขสนธิสัญญานีซ(Treaty of Nice) ของสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตราที่ เกี่ยวกับการละเมิดหลักการของสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิมนุษยชน ออสเตรียจึงเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสหภาพยุโรปมากขึ้น ตลอดจนการสนับสนุนและผลักดันการรับประเทศสมาชิกใหม่จากยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ออสเตรียเป็นประเทศสมาชิกแรก ๆ ในสหภาพยุโรปที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยรัฐธรรมนูญยุโรป(Treaty on Constitution for Europe).
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria)
เมืองหลวง
เวียนนา (Vienna)
เมืองสำคัญ
เวียนนา กราซ (Graz) ลินซ์ (Linz) ซาลซ์บูร์ก (Salzburg) อินน์สบรุค (Innsbruck) และคลาเกนฟูร์ท (Klagenfurt)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๘๓,๘๗๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็กทิศตะวันออก : ประเทศสโลวาเกีย และประเทศฮังการีทิศใต้ : ประเทศสโลวีเนีย และประเทศอิตาลีทิศตะวันตก : ประเทศลิกเตนสไตน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมนี
จำนวนประชากร
๘,๑๙๙,๗๘๓ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ออสเตรียร้อยละ ๙๑.๑ อื่น ๆ ร้อยละ ๘.๙
ภาษา
เยอรมัน
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๗๓.๖ นิกายโปรเตสแตนต์ร้อยละ ๔.๗อิสลามร้อยละ ๔.๒ อื่น ๆ และไม่ระบุร้อยละ ๕.๕ ไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๒
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป